วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

ประติมากรรมตะวันออก

งานประติมากรรมตะวันออก ส่วนใหญ่ก็เกี่ยวข้องกับศาสนา จึงมักจะเป็นเทวรูป พระพุทธรูป  หรือ พระโพธิสัตว์ ซึ่งมีทุกขนาดตั้งแต่ใหญ่โตมหึมาจนถึงเล็กกระจิดริด ลักษณะของประติมากรรมอาจแบ่งออกได้ตามสายศิลปะเช่นเดียวกับจิตรกรรมดังต่อไปนี้

ประติมากรรมทางสายศิลปะอินเดียนั้น ก็เนื่องมาจากลักษณะรูปแบบที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นในยุคสมัยต่าง ๆ ซึ่งก็ได้ถ่ายทอดไปสู่ประเทศอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลาตาม “ คลื่นศาสนา ” ที่แพร่สะพัดไปเป็นครั้งคราว จึงเห็นได้ว่าประเทศที่รับเอาลักษณะรูปแบบไปจากอินเดียนั้น ได้คิดสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ตามรสนิยมของตนเองจนกลายเป้นศิลปะที่ได้รับการยกย่อง เช่น ประติมากรรมของไทย ของกัมพูชา เป็นต้น แม้ในประเทศเดียวกันก็ยังมีการสร้างสรรค์ให้แตกต่างกันออกไปตามยุคตามสมัยด้วย ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปของไทย ก็ยังสามารถแยกออกได้ว่า เป็นยุคสมัยใดบ้าง ประติมากรรมเหล่านี้ได้ชี้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ จนกลายเป็นลักษณะของแต่ละประเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้วสร้างรูปแบบขึ้นโดยเน้นความงามให้เหมือนธรรมชาติ เช่น ร่างกายของประติมากรรมที่เกลี้ยงเกลา ไม่แสดงกล้ามเนื้อ เครื่องประดับแพรวพราวตามแบบของ แต่ละประเทศ ประติมากรรมเหล่านี้มีทั้งแกะสลักด้วยไม้ หิน และปั่นหล่อด้วยโลหะที่เรียกว่า “ สัมฤทธิ์ ”

ประติมากรรมในสายศิลปะจีน ก็อาศัยลักษณะรูปแบบประติมากรรมอินเดียมาตั้งแต่ในระยะแรก เฉพาะพระพุทธรูปจะเห็นได้ชัดว่า ดำเนินตามลักษณะพระพุทธรูปของอินเดียติดต่อมาเกือบทุกระยะ เช่น สมัยคันธาระ สมัยมถุรา สมัยอมราวดี สมัยคุปตะ เป็นต้น พระพุทธรูปของจีนเองก็แพร่หลายออกไปอีกหลายประเทศ มีญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น แต่ละประเทศก็สามารถสร้างสรรค์แสดงลักษณะแบบอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้ ทำให้บังเกิดพระพุทธรูปขนาดต่าง ๆ เช่น ในประเทศญี่ปุ่นมีพระพุทธรูป “ ไดบุดสุ ” สูงใหญ่มาก